วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ 8 เรื่องที่ 2 วิวัฒนาการโครงสร้างโซ่อุปทาน

8.2  วิวัฒนาการโครงสร้างโซ่อุปทาน
                ยุคอุตสาหกรรมในอดีต โดยเฉพาะบริษัทหรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จสูง ได้มุ่งเน้นถึงการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก และพยายามเป็นเจ้าของโซ่อุปทานเองเกือบทั้งหมด หรือที่เรียกว่า การบูรณาการแบบแนวตั้ง (Vertical Integration) ที่หมายถึงการเป็นเจ้าของหรือควบคุมทุกอย่างอยู่ในมือ ตั้งแต่วัตถุดิบที่ป้อนเข้า (Input) ผ่านไปยังกระบวนการ (Process) จนกระทั่งเป็นผลิตภัณฑ์ (Output) ขณะเดียวกันก็จะผลิตสินค้าในจำนวนมากๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดในด้าน การประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ซึ่งหมายความว่า หากธุรกิจผลิตสินค้าในปริมาณมาก ย่อมทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนยิ่งขึ้น  ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าต่ำลง  สามารถแข่งขันได้  และเป็นผู้นำด้านต้นทุน
                ในช่วงปี ค.ศ.1900 บริษัท Ford Motor ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของคือ Mr. Henry Ford ซึ่งเขาได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเกือบทุกอย่าง เพื่อใช้สำหรับป้อนวัตถุดิบเหล่านั้นให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ของเขา โดย Henry Ford เป็นเจ้าของเหมืองแร่เพื่อสกัดแร่เหล็ก เจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เจ้าของโรงงานประกอบรถยนต์ แม้กระทั่งเป็นเจ้าของสวนปอที่นำมาใช้ผลิตผ้าลินินเพื่อบุเพดานด้านบนหลังคาภายในรถ นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าของป่าไม้ เพื่อนำไม้ที่ได้มาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำจากไม้  ซึ่งจะพบว่า  ช่วงทศวรรษดังกล่าวผู้ประกอบการพยายามเป็นเจ้าของโซ่อุปทานเสียเอง
                จนกระทั่งต่อมา ระบบเศรษฐกิจได้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่มุ่งผลิตสินค้าแบบเดียว เพื่อเหมาะกับทุกคน (one – size – fits – all) โดยจัดเป็นแนวคิดที่สามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น และเช่นเดียวกัน บริษัท Ford Motor รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ทั่วไป ต่างก็นำแนวคิดนี้ไปใช้ ดังนั้นรถยนต์ของฟอร์ดจึงมีแบบและสีให้เลือกไม่มาก โดยจะผลิตออกมาคราวละมากๆ เพื่อประหยัดต้นทุน อีกทั้งลูกค้าก็ไม่มีโอกาสเลือกสีรถตามที่ตนหวัง จนกระทั่งต่อมาเมื่อตลาดโลกได้มีการขยายตัว ความต้องการของลูกค้ามีรูปแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่ออายุของผลิตภัณฑ์สั้นลง ผู้บริโภคมีทางเลือกสูงขึ้นและมีความต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การดำเนินธุรกิจภายใต้รูปแบบ one – size – fits – all จึงเริ่มใช้การไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอ และในช่วงปี ค.ศ. 1920 นี้เอง ผลกำไรของฟอร์ดจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากส่วนแบ่งตลาดที่เคยครองไว้กว่า 50% ได้ลดลงเหลือต่ำกว่า 20% และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 เป็นต้นมา การตลาดที่มุ่งเน้นแต่ประสิทธิภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลตอบสนองจากลูกค้า ก็มิใช่รูปแบบการทำธุรกิจที่จะประสบผลสำเร็จได้อีกต่อไป
                ครั้นเมื่อความเจริญรุ่งเรืองของมวลมนุษยชาติสูงขึ้น ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด หรือที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์(Globalization) ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลต่อโซ่อุปทานได้พัฒนาจากเดิมที่ผู้ประกอบการพยายามกุมปัจจัยการผลิตทั้งหมด มาสู่ระดับการร่วมทำงานระหว่างภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยกัน โดยแต่ละบริษัทต่างก็มุ่งทำธุรกิจที่ตนเองถนัด ที่ตนสามารถทำได้ดีที่สุด ที่เรียกว่า วิธีมุ่งเน้นถึงความสามารถหลักขององค์กร (Core Competencies) นั่นเอง ตัวอย่างเช่น บริษัทเหมืองแร่ ก็มุ่งเน้นการทำเหมือง บริษัทผลิตอะไหล่ ก็รับจ้างผลิตสินค้าในรูปแบบต่างๆ ตามแบบที่ต้องการ และบริษัทเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต ก็เน้นการผลิตสินค้าในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิตส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน จนกระทั่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย เป็นต้น และด้วยการดำเนินการตามวิธีดังกล่าว จึงทำให้องค์กรไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องการจัดการในด้านอื่นๆ ที่ตนไม่ถนัด เช่น เมื่อบริษัทได้ผลิตสินค้าเพื่อพร้อมที่จะป้อนสู่ตลาดแล้ว งานระบบขนส่งเพื่อกระจายสินค้าไปยังร้านค้าตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้น บริษัทจะคิดดำเนินการเองหรือไม่ หากคิดดำเนินการเอง ต้องลงทุนเท่าไร ต้องว่าจ้างพนักงานเพิ่มอีกเท่าไร เรามีความเชี่ยวชาญในกิจกรรมด้านนี้หรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ หรือจะว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบโลจิสติกส์เป็นผู้ดำเนินการแทน
                และจากปัจจัยในการแข่งขันจากเดิมที่เป็น การประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ที่มุ่งเน้นปริมาณการผลิตเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดต้นทุนที่ต่ำลง และทำกำไรได้มากขึ้น ก็ได้ถูกแรงกดดันจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นสินค้าที่ผลิตเป็นจำนวนมากเหล่านี้ อาจจะล้าสมัยได้ในชั่วพริบตา จากปัจจัยแนวโน้มความต้องการของลูกค้าและปัจจัยทางด้านอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้เกิดการสูญเสีย จึงพัฒนามาเป็นการประหยัดจากความเร็ว (Economies of Speed) โดยความเร็วมีส่วนช่วยลดต้นทุนได้ โดยเฉพาะความเร็วในการผลิตสินค้าเพื่อป้อนให้กับลูกค้าได้ทันเวลาสร้างโอกาสในการขายและทำให้ลูกค้าพึงพอใจ นอกจากนี้ยังมีการประหยัดจากขอบเขต (Economies of Scope) ที่หมายถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ที่มีความหลากหลายจากการลงทุนที่น้อย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีขนาดเล็ก แต่ก็มีสินค้าหลากหลายชนิดให้ลูกค้าเลือกซื้อ และเป็นสินค้าที่ลูกค้าต้องการ หรือในอีกมุมมองหนึ่งก็คือ การลงทุนทำธุรกิจที่ได้นำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มักนำเทคนิคนี้มาใช้ ด้วยการนำเทคโนโลยีของรถยนต์อีกรุ่นหนึ่ง (อาจเป็นรถยนต์ในเครือหรือทำโครงการวิจัยพัฒนาร่วมกับรถยนต์อีกยี่ห้ออื่นก็ได้) ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ระบบบังคับควบคุมและระบบช่วงล่างมาปรับใช้ โดยมีการนำอะไหล่บางชิ้นมาใช้ร่วมกันได้  เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น  มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก  ดังนั้นหากนำเทคนิคการประหยัดจากขอบเขตนี้มาใช้ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนด้านการวิจัยและพัฒนาได้เป็นอย่างมาก  ดังนั้นรูปแบบธุรกิจต่างๆ ในยุคปัจจุบัน จึงสามารถนำเทคนิคการประหยัดต้นทุนทั้งสามรูปแบบเหล่านี้มาปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น