วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ 10 เรื่องที่ 2 การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในด้านอื่นๆ

10.2  การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในด้านอื่นๆ
                จากสาขาต่างๆ ของปัญญาประดิษฐ์ที่ได้กล่าวข้างต้น ยังมีการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในด้านอื่นๆ อีกเล็กน้อย โดยในที่นี้จะขอเพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้กล่าวมา อันประกอบด้วย เจเนติกอัลกอริทึม และตัวแทนอันชาญฉลาด  ตามรายละเอียดต่อไปนี้
                10.2.1  เจเนติกอัลกอริทึม(Genetic Algorthm)
                เจเนติกอัลกอริทึม  ในบางครั้งอาจเรียกว่า  เจเนติกโปรแกรม  (Genetic Program) เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าที่มนุษย์จะกระทำได้ โดยเจเนติกอัลกอริทึมจะใช้กลไกการเลียนแบบการคัดเลือกพันธุกรรมตามธรรมชาติ  ซึ่งปกติพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก  จะพัฒนาการด้วยการคัดสรรแต่สิ่งที่ดีที่สุดในสายพันธุ์เพื่อสืบทอดไปยังรุ่นถัดไป ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของเจเนติกจึงใช้การปฏิบัติการแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า  หรือเปลี่ยนตัวแบบจำลองและคอยดูวิวัฒนาการ  จนกระทั่งปรากฎผลที่ดีที่สุดออกมา  ซึ่งวิธีดังกล่าวจะตั้งอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีของวิวัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับ (1) ความแตกต่างแปรผันทางพันธุกรรม (Variation) และ (2) การคัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural Selection) โดยเจเนติกอัลกอริทึมมีประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับเหตุการณ์ที่มีทางออกอยู่นับพันและเป็นไปได้ว่าจะต้องหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด ดีที่สุด โดยซอฟต์แวร์เจเนติกอัลกอริทึมจะใช้กลุ่มของกฎกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (อัลกอริทึม) ที่ระบุถึงวิธีการรวมตัวกันในส่วนประกอบของกระบวนการอย่างไร เพื่อนำไปสู่พันธุกรรมใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากลักษณะดั้งเดิม ซึ่งอาจใช้กระบวนการสุ่มเพื่อประมวลผลรวมกัน (Mutation) ด้วยการนำกระบวนการที่ดีๆ จากหลายๆ ส่วนมารวมเข้าด้วยกัน (Crossover) และคัดเลือกกลุ่มกระบวนการที่ดีที่สุด (Select) เพื่อสร้างแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดียิ่งขึ้น

                10.2.2  ตัวแทนชาญฉลาด(Intelligent Agent)
                ด้วยแนวคิดของระบบชาญฉลาดนี้เอง ที่ทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถสูงและทำงานแทนมนุษย์ได้ จึงเกิด ตัวแทนชาญฉลาด (Intelligent Agent)ขึ้นมา หรือที่เรียกว่า Intelligent Robot หรือมักเรียกสั้นๆ ว่า บอท(Bot) ซึ่งบอทจะประกอบด้วย โปรแกรมและฐานความรู้ ที่ถูกนำมาใช้ปฏิบัติงานเฉพาะกิจแทนคนแบบอัตโนมัติ  โดยเฉพาะงานรูทีนต่งๆ  การค้นหาข้อมูล  การกลั่นกรองข่าวสารสำหรับงานอีคอมเมิร์ช  การจัดการโซ่อุปทาน  และกิจกรรมใดๆ  ตามเจตจำนงของผู้ใช้ว่าต้องการให้บอททำอะไร  วันไหน  และเวลาใด
                อย่างไรก็ตาม  ก็มีกลุ่มคนบางกลุ่มได้มีการนำแนวคิดของบอทมาใช้  เพื่อดำเนินการในด้านลบ และใช้เป็นกลโกงในรูปแบบต่างๆ  บนอินเทอร์เน็ต  เช่น  การใช้บอทโพสต์ข้อความตามเว็บ  การใช้บอทดาวน์โหลดไฟล์อัตโตมัติ  การใช้บอทเพื่อเล่นเกมออนไลน์  รวมถึงการนำบอทมาใช้เป็นตัวแทนของแฮกเกอร์เพื่อเจาะเข้าไปตามเว็บไซต์ต่างๆ ดังนั้นในบางเว็บไซต์จึงมีมาตรการป้องกันขึ้นมา ด้วยการให้ผู้ใช้ได้พิสูจน์ตัวตนว่าเป็นมนุษย์จริงๆ มิใช่เป็นตัวแทนของบอทที่ปลอมตัวมา จึงเป็นที่มาของ CAPTCHA (Completely Automated Public Turing test to tell Computers and Humans Apart) โดยนำภาพมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยืนยันความเป็นมนุษย์  ภายใต้สมมติฐานว่า  “มนุษย์มีความสามารถในการแยกแยะวัตถุที่เป็นภาพได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์”

                ปัจจุบัน CAPTCHA (แคปช่า) ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางกับการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อโต้ตอบกับผู้ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ เพื่อมั่นใจได้ว่าผู้ใช้เป็นมนุษย์จริงๆ มิใช่คอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์เป็นผู้กระทำ โดยคอมพิวเตอร์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาจาก CAPTCHA ได้ เพราะคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์แยกแยะความแตกต่างด้วยภาพไม่ดีเท่ามนุษย์ ประกอบกับภาพตัวอักขระหรือตัวเลขในCAPTCHA จะมีลักษณะผิดรูปทรง โย้ไปโย้มา รวมถึงอาจมีฉลากหลังเพิ่มเติมที่ทำให้แลดูลายตาและยิ่งเหยิงเข้าไปอีก แต่ธรรมชาติของมนุษย์สามารถแยกแยะความแตกต่างของภาพต่างๆ เหล่านั้นได้ดี จึงบอกได้ว่าเป็นตัวอักขระหรือตัวเลขใด และเรื่องยากสำหรับกรณีที่ผู้ใช้เป็นคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะแฮกเกอร์ที่มักโจมตีผู้ใช้งานผ่านบอทที่สร้างขึ้นจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์  ให้ทำงานอัตโนมัติแทนคน  ดังนั้น  CAPTCHA จึงจัดเป็นเครื่องมือที่ยากต่อการตรวจจับสำหรับบอทที่ทำงานแบบอัตโนมัติแทนคนและจัดเป็นมาตรการป้องกันความปลอดภัยจากภัยคุกคามของบอทได้ดีอีกวิธีหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น