วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ 5 เรื่องที่ 2 แนวโน้มด้านการสื่อสารโทรคมนาคม

5.2  แนวโน้มด้านการสื่อสารโทรคมนาคม
                การสื่อสารโทรคมนาคม คือ การแลกเปลี่ยนสารสนเทศที่อยู่ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเสียง ข้อมูล ข้อความ รูปภาพ ออดิโอ และวิดีโอ ด้วยการส่งผ่านเครือข่าย ซึ่งแต่เดิมนั้น เครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อกำหนดเส้นทางการจราจรบนเครือข่ายได้ และความเร็วในการส่งผ่านก็จะช้ามาก เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ สำหรับแนวโน้มหลักๆ ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในส่วนของการบริหารจัดการโดยตรง ดังนั้นเราจึงต้องรับทราบถึงแนวโน้มหลักของการสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งในด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และการใช้งาน ที่มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มแนวทางในการตัดสินใจ  และต้องนำมาประยุกต์ใช้  เพื่องานบริหารจัดการมีความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น
                5.2.1  แนวโน้มด้านอุตสาหกรรม(Industry Trends)
                สังเวียนการแข่งขันในส่วนของการบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ได้ถูกปรับโฉมภายในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้เอง เนื่องจากแต่เดิม อุตสาหกรรมด้านการสื่อสารโทรคมนาคมมักถูกผูกขาดโดยภาครัฐเป็นหลัก แต่ด้วยปัจจุบันความต้องการด้านบริการเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมมีสูงมาก ส่งผลต่อภาครัฐที่ไม่สามารถบริการได้อย่างทั่วถึง ต่อมาจึงมีการจัดวางกฎระเบียบใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในด้านการบริการในครั้งนี้ได้ จึงก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัทที่ให้บริการ  ซึ่งต่างก็งัดกลยุทธ์เพื่อเพิ่มบริการที่ดีให้แก่ลูกค้า  เพื่อขอชิงส่วนแบ่งทางการตลาด  และในที่สุดก็จะเกิดการบริการใหม่ๆ  แก่ประชาชนทั่วไป  ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการบริการที่ง่ายขึ้น  สะดวกรวดเร็ว  และมีต้นทุนที่ถูกลง

                การเปลี่ยนแปลงการบริการที่กระจายไปสู่ภาคเอกชนนี้เอง จึงก่อให้เกิดบริษัทเอกชนหลายแห่งด้วยกันที่เปิดบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อเพิ่มโอกาสแก่ลูกค้าในการเลือกใช้บริการการสื่อสารผ่านระบบโทรศัพท์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ  โดยผ่านช่องทางต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม  วิทยุติดตามตัว  โทรศัพท์เคลื่อนที่  เคเบิลทีวี  และอินเทอร์เน็ต
                และด้วยอัตราการเติบโตของอินเทอร์เน็ตและเวิลด์ไวด์เว็บ  ส่งผลให้เกิดเว็บไซด์เพิ่มขึ้นทุกวันราวดอกเห็ด  จึงทำให้มีบริษัทเอกชนหลายรายด้วยกันที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อบริการทางอินเทอร์เน็ต  ไม่ว่าจะเป็นการบริการอินเทอร์เน็ตให้กับตามภาคธุรกิจ  และส่วนบุคคลตามบ้านเรือนทั่วไป  รวมถึงการเช่าพื้นที่โฮสติ้ง(Hosting) ซึ่งปกติตามภาคธุรกิจทั่วไป มักเลือกใช้บริการสายเช่าความเร็วสูง (Leased Line) เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างอีคอมเมิร์ช หรือใช้สื่อสารกับภาคธุรกิจด้วยกัน นอกจากนี้ก็ยังมีช่องทางการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอื่นๆ  อีก  เช่น  โครงข่าย  VPN  หรือ  ADSL  ซึ่งผู้ประกอบการทั่วไปสามารถนำมาพิจารณาเพื่อเลือกใช้ให้กับองค์กรได้ตามความเหมาะสม
                5.2.2  แนวโน้มด้านเทคโนโลยี(Technology Trends)
                การเชื่อมต่อแบบไร้ขีดจำกัดบนระบบเปิด (Open System) ด้วยการใช้เทคโนโลยีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือเป็นจุดประสงค์บนแพล็ตฟอร์มของเทคโนโลยีดังกล่าว และด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมในยุคปัจจุบันจึงถือเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอื่นๆ ตามมา เช่น โปรแกรมท่องเว็บหรือเว็บเบราเซอร์ ซอฟต์แวร์ช่วยสร้างเว็บเพจ อินเทอร์เน็ตเซิร์ฟเวอร์ อินทราเน็ตเซิร์ฟเวอร์ ซอฟต์แวร์จัดการระบบเครือข่าย ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครือข่ายและโปรโตคอล TCP/IP และอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยบนเครือข่าย เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ล้วนถูกนำมาประยุกต์ใช้บนอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต และเอ็กซ์ทราเน็ตทั้งสิ้น รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ชและการทำงานร่วมกันบนเครือข่าย นอกจากนี้ แนวโน้มด้านกำลังเสริมและความรู้เชิงเทคนิคของอุตสาหกรรมนี้ จะขยายตัวไปสู่การสร้างระบบเครือข่ายไคลเอนต์เซิร์ฟเวอร์  ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสถาปัตยกรรมระบบเปิด
                ระบบเปิดก็คือระบบสารสนเทศที่ใช้มาตรฐานเหมือนๆ กัน สำหรับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ โปรแกรมประยุกต์ และเครือข่าย ระบบเปิดมีความคล้ายคลึงกับอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต และเอ็กซ์ทราเน็ตด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมด้านการประมวลผล ที่เปิดให้ผู้ใช้และระบบคอมพิวเตอร์บนเครือข่ายสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย จะเป็นคอมพิวเตอร์คนละระดับ คนละแพล็ตฟอร์ม แต่ด้วยการทำงานของระบบเปิด จะทำให้ความแตกต่างบนสถาปัตยกรรมของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เหล่านั้นสามารถทำงานร่วมกันได้  หรือที่เรียกว่า  Interoperability  นั่นเอง
                แนวโน้มอันสำคัญในด้านอื่นๆ ของเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมก็คือ การเปลี่ยนแปลงจากสื่อกลางส่งข้อมูลอย่างสายทองแดงและระบบสถานีไมโครเวฟภาคพื้นดิน มาเป็นการใช้สายไฟเบอร์ออปติกและระบบเซลลูล่าร์ การสื่อสารผ่านระบบดาวเทียม และเทคโนโลยีไร้สาย โดยที่สายไฟเบอร์ออปติกจะเป็นสื่อกลางส่งข้อมูลที่จะแปลงสัญญาณดิจิตอลให้มาเป็นสัญญาณแสง ให้มีความเข้มเพียงพอต่อการส่งผ่านไปยังท่อส่งด้วยความเร็วสูง อีกทั้งยังสามารถส่งข้อมูลได้ปริมาณมากบนระยะทางไกลๆ และมีความปลอดภัยมากกว่าสายสัญญาณประเภทอื่นๆ ส่วนการสื่อสารผ่านระบบดาวเทียม จะทำให้การส่งผ่านข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นออดิโอ หรือวิดีโอ สามารถสื่อสารระหว่างพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลกันได้ เช่น การสื่อสารข้ามประเทศ  หรือข้ามทวีป  และท้ายสุด  เทคโนโลยีไร้สาย  เช่น  วิทยุติดตามตัว  และระบบไร้สายอื่นๆ  ที่มีการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ เซลลูล่าร์  เครื่องพีดีเอ และการเชื่อมโยงเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ซึ่งเทคโนโลยีไร้สายมีส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวกต่อการใช้งานแก่ผู้ใช้เป็นอย่างมาก มีความยืดหยุ่นสูง  และสามารถพกพาอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อเชื่อมต่อใช้งานได้ทุกเมื่อแม้อยู่นอกสถานที่ก็ตาม
                5.2.3  แนวโน้มด้านการใช้งานทางธุรกิจ(Business Application Trends)
                การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยี ถือเป็นขบวนการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจที่นำระบบการสื่อสารโทรคมนาคมมาใช้งานอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้แนวโน้มการขยายตัวของผู้ขาย ผู้ให้บริการ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และระบบเปิด รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต เวิลด์ไวด์เว็บ อินทราเน็ต และเอ็กซ์ทราเน็ต ย่อมส่งผลถึงความเป็นไปได้ต่อการใช้ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้นโดยปริยาย ทั้งในรูปแบบของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ อีคอมเมิร์ช การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรและการประยุกต์ใช้ทางธุรกิจในด้านอื่นๆ ที่สนับสนุนงานด้านปฏิบัติการ การจัดการ และถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของภาคธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น