วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ 11 เรื่องที่ 3 แบบจำลองธุรกิจและการวางแผน

11.3  แบบจำลองธุรกิจและการวางแผน
                แบบจำลองธุรกิจ (Business Model) คือกรอบแนวความคิดที่แสดงถึงองค์ประกอบต่างๆ และตรรกะทางเศรษฐกิจที่มีเหตุผลต่อการดำเนินงาน ว่าจะให้ธุรกิจสามารถส่งมอบคุณค่าไปสู่ลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม  และธุรกิจสามารถทำเงินได้อย่างไร  แบบจำลองธุรกิจช่วยตอบโจทก์ที่จำเป็นเกี่ยวกับส่วนประกอบพื้นฐานของธุรกิจ   เช่น
-                   ใครคือลูกค้าของเรา ?
-                   จะมอบคุณค่าอะไรแก่ลูกค้าของเรา ?
-                   ต้องใช้ต้นทุนเท่าไรกับการส่งมอบคุณค่าไปยังลูกค้าของเรา ?
-                   เราจะทำเงินในธุรกิจนี้ได้อย่างไร ?
                แบบจำลองธุรกิจจะระบุถึงคุณค่าอะไรที่จะเสนอแก่ลูกค้า ซึ่งลูกค้าจะได้รับคุณค่าเหล่านี้จากสินค้าและบริการที่ได้ซื้อจากเราไป โดยจะระบุถึงการจัดรูปแบบธุรกิจและการปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เกิดความสามารถในการจัดเตรียมคุณค่า และความยั่งยืนในทุกๆ สิ่งที่ก่อเกิดประโยชน์ไปสู่ลูกค้าด้วย ดังตารางเป็นแบบร่างของคำถามเฉพาะกิจที่เกี่ยวกับส่วนประกอบของธุรกิจที่แบบจำลองของธุรกิจจะต้องตอบโจทก์นี้ให้ได้ทั้งหมด ในขณะที่ตารางถัดไปคือรายการคำถามในส่วนประกอบสำคัญของแบบจำลองอีบิสซิเนส

ส่วนประกอบของแบบจำลองธุรกิจ
คำถามทั่วไปสำหรับแบบจำลองธุรกิจ
คุณค่าที่มอบให้กับลูกค้า
(Customer Value)
บริษัทจะนำเสนอสิ่งใดเป็นพิเศษให้แก่ลูกค้า  หรือมุ่งไปยังต้นทุนของผลิตภัณฑ์ให้ต่ำกว่าคู่แข่ง  เพื่อให้องค์กรสามารถขายสินค้าได้ต่ำกว่าคู่แข่งขัน
ขอบเขต (Scope)
บริษัทจะกำหนดขอบเขตของลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใด และจะมีการกระจายสินค้าไปตามพื้นที่ใด รวมถึงสัดส่วนของส่วนแบ่งตลาด
ราคา (Pricing)
บริษัทจะกำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสมและแลดูมีคุณค่าได้อย่างไร ?
แหล่งรายได้ (Revenue Source)
เราจะทำเงินได้จากช่องทางใดบ้าง ? ใครเป็นคนจ่าย  จ่ายอะไร  และเมื่อไร ?
กิจกรรมเพื่อการเชื่อมโยง
(Connected Activities)
มีกลุ่มของกิจกรรมใดบ้าง ที่บริษัทจะมีไว้เพื่อปฏิบัติงานไปสู่การนำเสนอคุณค่าให้แก่ลูกค้า และทำเมื่อไร และจะติดต่อผ่านกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างไร ?
การนำไปใช้ (Implementation)
การดำเนินงานของกิจกรรมต่างๆ มีความสัมพันธ์อย่างไรกับโครงสร้างองค์กร ระบบ บุคลากร และสภาพแวดล้อม
ความสามารถ (Capabilities)
อะไรคือความสามารถขององค์กร และช่องโหว่ในความสามารถที่ต้องมีการเติมเต็มคืออะไร ? บริษัทจะทำอย่างไรกับการเติมเต็มความสามารถเหล่านั้น และอะไรคือแหล่งที่มาของความสามารถดังกล่าว ?
ความยั่งยืน (Sustainability)
บริษัทจะทำเงินได้อย่างยั่งยืนอย่างไร ? บริษัทจะต้องทำอย่างไร เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ?
แบบจำลองธุรกิจที่ดี  จะต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนประกอบของแบบจำลองธุรกิจ
คำถามเฉพาะสำหรับแบบจำลองอีบิสซิเนส
คุณค่าที่มอบให้กับลูกค้า
(Customer Value)
มีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้บริษัทได้ส่งมอบคุณค่าไปยังลูกค้าของเราได้ ? เราสามารถใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในการแก้ไขกลุ่มปัญหาใหม่ๆ ของลูกค้าได้หรือไม่ ?
ขอบเขต (Scope)
อะไรคือขอบเขตวงจำกัดของลูกค้า  เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตครอบคลุมไปให้ถึง ? อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราสามารถดัดแปลงสินค้าหรือผสมผสานงานบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่  อย่างไร ?
ราคา (Pricing)
เราสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อกำหนดราคาให้มีความแตกต่างกันได้อย่างไร ?
แหล่งรายได้ (Revenue Source)
แหล่งที่มาของรายได้จากอินเทอร์เน็ต มาจากแหล่งใดบ้าง ?
อะไรคือแหล่งรายได้ใหม่ ?
กิจกรรมเพื่อการเชื่อมโยง
(Connected Activities)
จำนวนของกิจกรรมใหม่ๆ ที่ต้องปฏิบัติในอินเทอร์เน็ตมีอะไรบ้าง ?
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสามารถช่วยเราปฏิบัติกับกิจกรรมที่มีอยู่ได้อย่างไร ?
การนำไปใช้ (Implementation)
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์  โครงสร้าง  ระบบ  บุคลากรและสภาพแวดล้อมของบริษัทเราอย่างไร ?
ความสามารถ (Capabilities)
อะไรคือความสามารถใหม่ที่เราต้องการ  อะไรคือผลกระทบของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่มีต่อความสามารถเดิมที่มีอยู่ ?
ความยั่งยืน (Sustainability)
การนำอินเทอร์เน็ตมาใช้งานช่วยสร้างความยั่งยืนได้ง่ายขึ้นหรือยากกว่าเดิม บริษัทจะสามารถสร้างข้อได้เปรียบได้อย่างไร ?
คำถามในส่วนประกอบของแบบจำลองอีบิสซิเนส  ที่สามารถพัฒนาขึ้นจากบางส่วนของกระบวนการวางแผนทางไอทีและกลยุทธ์ธุรกิจ

                แบบจำลองธุรกิจจัดเป็นเครื่องมือการวางแผนอันทรงคุณค่า เพราะจะช่วยมุ่งประเด็นบนสิ่งที่สนใจในส่วนประกอบที่สำคัญของธุรกิจทั้งหมด โดยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนกระบวนการจัดการอย่างมีกลยุทธ์  เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ สำหรับระเบียบแบบแผนที่จัดทำขึ้นนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการและผู้จัดการต้องใช้พลังความคิด  การกวดขัน  และการทำงานอย่างมีระบบ  เพื่อนำไปสู่คุณค่าและการดำรงชีพของธุรกิจให้ธำรงอยู่รอดสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น