วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ 1 เรื่องที่ 2 ข้อมูลและสารสนเทศ

ข้อมูลและสารสนเทศ
สารสนเทศเกิดจากการนำข้อมูลมาผ่านการประมวลผล ดังนั้นคำว่า ข้อมูลและสารสนเทศ จึงมีความหมายแตกต่างกันโดยที่ข้อมูล (Data) มาจากรากศัพท์ลาตินคำว่า datum ที่หมายถึงข้อเท็จจริง ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของข้อความ ตัวเลข หรือรูปภาพ และถือเป็นข้อมูลดิบ (Raw Data) ที่ถูกรวบรวมมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการประมวลผลเป็นสารสนเทศ ในขณะที่ สารสนเทศ (Information) หมายถึง ข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว และนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยผู้บริหารสามารถนำสารสนเทศมาใช้ประกอบการตัดสินใจบนสถานการณ์๖งๆ ตามวัตถุประสงค์ของเรื่องราวนั้นๆ ได้ทันที ดังนั้นข้อมูลต้องกำเนิดมาก่อน แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทันที จึงต้องทำการวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาผ่านการประมวลผลอย่างมีระบบ จนกระทั่งได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นสารสนเทศในที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลและสารสนเทศต่างก็มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น กล่าวคือ สารสนเทศจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ต่อเมื่อข้อมูลที่เป็นแหล่งต้นทางนั้นมีความถูกต้อง แต่ถ้าแหล่งต้นทางของข้อมูลเป็นข้อมูลที่ผิด เมื่อนำเข้าสู่กระบวนการประมวลผล ก็ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาด ดังประโยคหนึ่งที่ได้กล่าวไว้ว่า Garbage In , Garbage Out : GIGO ซึ่งหมายความว่า หากคุณป้อนขยะเข้าไป ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาก็คือขยะเช่นกัน
                1.2.1  การจัดการกับข้อมูล
                สำหรับตัวอย่างที่จะเสนอต่อไปนี้จะทำให้ทราบถึงความแตกต่างระหว่างข้อมูลและสารสนเทศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสมมติว่าคุณกำลังทำงานอยู่ในโรงงานประกอบรถยนต์  และเมื่อปลายปีที่แล้ว  ทางบริษัทได้มีแผนการนำรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดลงสู่ท้องตลาด  เพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่มีความภักดีและเชื่อมั่นต่อรถยนต์รุ่นเดิมที่ใช้งานอยู่  ได้รับรู้ถึงว่าบริษัทได้พยายามคิดค้นสินค้ารุ่นใหม่ๆ  มานำเสนอแก่ลูกค้า  รวมถึงการได้ปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการที่ดีมาโดยตลอด  ดังนั้นทางบริษัทจึงได้ดำเนินการสำรวจกลุ่มตัวย่างขนาดใหญ่จากลูกค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ  ด้วยการใช้แบบสอบถามจำนวน  30  คำถามด้วยกัน  ที่กระจายไปยังหัวข้อต่างๆ  ดังนี้
-             คุณสมบัติของผู้ตอบแบบสอบถาม  ซึ่งประกอบด้วยเพศ  อายุ  และรายได้
-             คำวิจารณ์  หรือคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์  ซึ่งประกอบด้วยระบบเครื่องยนต์  ระบบการบังคับควบคุม  ระบบช่วงล่าง  ระบบความปลอดภัย  และคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ประกอบ
-             การได้รับความดูแลและเอาใจใส่จากบริษัทตัวแทนจำหน่าย
                ครั้นเมื่อแบบสอบถามทั้งหมด ได้รับการกรอกจากลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  เมื่อนำมาอ่าน  ก็จะพบว่าต้องเสียเวลากับการอ่านข้อมูลแต่ละรายการเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงและยากต่อการทำความเข้าใจ  แต่ถ้ามีการนำข้อมูลในแบบสอบถามทั้งหมดมาจัดการเสียใหม่  ด้วยการนำมาประมวลผลเป็นสารสนเทศ  มีการสรุปผลด้วยการจำแนกเป็นหัวข้อต่างๆ  พร้อมตัวเลขที่แสดงถึงระดับความพึงพอใจของลูกค้าในแต่ละรายการ รวมถึงข้อความสรุปผลเกี่ยวกับความคิดเห็น คำวิจารณ์ต่างๆ จากลูกค้าก็จะทำให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดคืออะไร ดังนั้นทางบริษัทจึงสามารถนำผลลัพธ์ของสารสนเทศที่ได้จากแบบสอบถามเหล่านี้ มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า  เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด
                อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทางบริษัทจะได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอจากตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นยอดจำหน่ายรถยนต์รุ่นต่างๆ ผลการสำรวจลูกค้า รวมถึงข้อมูลสินเชื่อผ่านบริษัทไฟแนนซ์ แต่ผลลัพธ์จากการสำรวจในครั้งนี้ ทางบริษัทยังสามารถนำสารสนเทศมาใช้ปรับปรุงทิศทางและแนวโน้มของตลาดในปัจจุบัน ด้วยการคำนวณหาอายุเฉลี่ยของลูกค้า รายได้เฉลี่ย และลูกค้าประเภทใดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของรถยนต์ในแต่ละรุ่น เพื่อนำมาปรับปรุงสื่อโฆษณาให้มุ่งเจาะตลาดตามกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง  ซึ่งจากกรณีดังกล่าว  จะพบว่าทางบริษัทได้มีการนำสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
                1.2.2  การก่อกำเนิดของสารสนเทศ
                อ้างอิงจากตัวอย่างข้างต้นที่มีการคำนวณหาอายุเฉลี่ยของลูกค้า และรายได้เฉลี่ยของลูกค้าตามช่วงอายุ  สิ่งเหล่านี้ก็คือการประมวลผล  ซึ่งการประมวลผลก็คือการจัดการกับข้อมูลใดๆ  เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศตามที่ต้องการ
                พิจารณาจากรูป จะพบว่ามีกระบวนการหลักๆ อยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ การนำเข้า (Input) การประมวลผล (Process)  และการแสดงผลลัพธ์  (Output)  โดยที่
                โรงงานผลิตกระดาษ  ได้มีการป้อนวัตถุดิบซึ่งก็คือต้นไม้  จากนั้นก็นำวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานเพื่อผ่านกระบวนการต่างๆ  จนกระทั่งออกมาเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษ  ที่ผู้คนทั่วไปสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
                การป้อนข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์  และนำมาประมวลผลผ่านระบบสารสนเทศเพื่อแสดงเป็นรายงานสรุปผล  ที่ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการตัดสินใจได้


ภาพแสดงการนำข้อมูลการประมวลผลเพื่อเป็นสารสนเทศ
ข้อมูลดิบจากการบันทึกการขายสินค้าแต่ละวัน สามารถนำมาประมวลผลผ่าน
ระบบ เพื่อแสดงรายงานสารสนเทศของยอดขายสินค้ารายการนั้นๆได้

                อย่างไรก็ตาม ในบางบริบทของข้อมูล ข้อมูลที่รวบรวมมาอาจเป็นสารสนเทศที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที ตัวอย่างเช่น บริษัทได้จัดกิจกรรมแข่งกีฬาภายใน ระหว่างพนักงานด้วยกัน และได้มีการรวบรวมอายุของพนักงานทุกคน เพื่อนำมาคัดเลือกแข่งกีฬาบาสเกตบอล ข้อมูลของพนักงานที่รวบรวมมานั้น สามารถเป็นสารสนเทศที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที แต่ถ้าเป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่บริษัทต้องการทราบถึงอายุเฉลี่ยของลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์นี้ ข้อมูลอายุที่รวบรวมมา ก็จะเป็นเพียงข้อมูลดิบเท่านั้น ที่จะต้องนำมาผ่านการประมวลผลเพื่อเป็นสารสนเทศ ในทำนองเดียวกัน สารสนเทศที่ได้มา ก็อาจเป็นเพียงข้อมูลสำหรับอีกระบบหนึ่งก็ได้ เช่น ผลการเรียนนักศึกษาหรือเกรดที่ได้ในแต่ละรายวิชา ก็จัดเป็นสารสนเทศหนึ่ง  ที่นำคะแนนดิบต่างๆ  มาประมวลผล  ในขณะเดียวกัน เกรดแต่ละรายวิชาก็จะถูกรวบรวมกลับมาเป็นข้อมูลอีกครั้ง เพื่อนำมาสรุปเป็นสารสนเทศในรูปแบบของเกรดเฉลี่ยสะสม เป็นต้น
                1.2.3  คุณสมบัติของสารสนเทศที่ดี
                คำว่า  ตรงประเด็น  ในที่นี้หมายถึง  ความสอดคล้องกับงาน  กล่าวคือ  สารสนเทศที่ได้จะต้องมีความสัมพันธ์กับงานนั้นๆ อย่างมีนัยสำคัญ  หากสารสนเทศที่ได้  ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือไม่สอดคล้องกับความต้องการของงาน  ถึงแม้ว่าจะเป็นสารสนเทศที่ถูกต้องก็ตาม  ก็ถือว่าได้ประโยชน์  ตัวอย่างเช่น  ผู้บริหารต้องการรายงานสารสนเทศเกี่ยวกับเงินปันผล  ในรูปของอัตราดอกเบี้ยสำหรับการลงทุนระยะสั้น  แต่กลับได้สารสนเทศจากการลงทุนระยะยาวแทน  สิ่งที่ได้จึงไม่สอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการ  จึงถือว่าสารสนเทศจากรายงานนี้ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
                2.  สารสนเทศต้องมีความสมบูรณ์เพียงพอ  (Complete)
                การไม่ได้รับรู้สารสนเทศใดๆ  อาจจะดีกว่าการได้สารสนเทศที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนด้วยซ้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเลวร้ายอย่างไม่คาดคิดมาก่อนก็ว่าได้ เนื่องจากหากสารสนเทศไม่ครบถ้วน โดยมีข้อมูลบางส่วนที่สำคัญขาดหายไป ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น สารสนเทศทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์หนึ่งบนพื้นที่เขตภาคกลาง อาจส่งผลต่อการตัดสินใจผิดพลาดได้เมื่อถูกนำไปใช้ เนื่องจากยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับรายได้เฉลี่ยของกลุ่มเป้าหมาย  ทำให้สารสนเทศไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ  จึงเป็นเหตุให้สารสนเทศนั้นยังไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
                3.  สารสนเทศต้องมีความถูกต้อง  (Accurate)
                ในทำนองเดียวกัน  สารสนเทศที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงอาจก่อให้เกิดหายนะได้  ตัวอย่างเช่น  ข้อมูลของผู้ป่วยที่กรอกเข้าไปไม่ถูกต้อง  มีการกรอกชื่อยาที่คนไข้แพ้ยาผิดพลาดไป  เหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้แพทย์ผู้รักษา  แทนที่จะรักษาคนไข้ให้หายจากโรค  แต่กลับเป็นการหยิบยื่นความเสี่ยงตายให้แก่คนไข้แทน
                4.  สารสนเทศต้องมีความเป็นปัจจุบัน  (Current)
                ด้วยสภาวการณ์ของธุรกิจโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รายงานทางสารสนเทศที่ได้รับจากเมื่อวานนี้  อาจไม่จริงแล้วสำหรับวันนี้ก็เป็นได้  ตัวอย่างเช่น  การลงทุนซื้อหุ้นของวันนี้  ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลตลาดหุ้นเมื่อวันวาน ผลการคาดคะเนอาจตรงกันข้ามกับความเป็นจริงก็เป็นได้ เนื่องจากความผันผวนของตลาดหุ้นมีความอ่อนไหวมาก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เกิดจากเศรษฐกิจ การเมือง  ที่ยากต่อการควบคุม ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั้งสิ้น ดังนั้นสารสนเทศที่จะนำมาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในกรณีนี้  จะต้องทันเหตุการณ์แบบวันต่อวัน  หรือแบบนาทีต่อนาทีเลยก็ว่าได้  อย่างไรก็ตาม  ความเป็นปัจจุบันของสารสนเทศนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจเป็นสำคัญ  ดังเช่นธุรกิจตลาดหุ้น  ที่จำเป็นต้องได้รับรายงานสารสนเทศที่มีความเป็นปัจจุบันสูง  ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกทั่วไป  รายงานสารสนเทศภายในรอบระยะเวลาสั้นๆ  อาจไม่สามารถนำมาใช้เพื่อการคาดคะเนเหตุการณ์ในเชิงธุรกิจได้  ดังนั้นความเป็นปัจจุบันในที่นี้ก็คือ  สารสนเทศต้องได้มาในช่วงเวลาที่เหมาะสม  เพื่อก่อให้เกิดการตัดสินใจบนพื้นฐานความแม่นยำยิ่งขึ้น
                5.  สารสนเทศต้องมีความคุ้มค่า  (Economical)

                ระบบสารสนเทศที่ถูกนำมาใช้งานในธุรกิจล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงความคุ้มค่าในการจัดทำสารสนเทศด้วย  ตัวอย่างเช่น  บริษัทต้องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ลงสู่ท้องตลาด  และเพื่อลดความเสี่ยงในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ จึงได้จัดทำผลสำรวจความต้องการของลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมายในผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ทั่วประเทศ  เพื่อจะได้นำสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ต่อการตัดสินใจ แต่ถ้าการสำรวจในครั้งนี้มีต้นทุนที่สูงมาก จนกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องถูกนำไปหักลดกำไรจากกยอดขายของผลิตภัณฑ์ใหม่  ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าต่อการจัดทำสารสนเทศ ผู้บริหารก็จะต้องหันกลับมาพิจารณาใหม่ ว่าจะดำเนินการต่อไปหรือหาแนวทางอื่นดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น