วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ 7 เรื่องที่ 1ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบ

7.1  ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบ
                บ่อยครั้งทีเดียวที่มีการกล่าวว่า การนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อควบคุมระบบงาน จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น แล้วทราบหรือไม่ว่าคำกล่าวยอดนิยมทั้งสองนั้น จริงๆ แล้วมีความหมายอย่างไร
                ประสิทธิผล (Effectiveness)เป็นคำที่ใช้สำหรับวัดระดับความสำเร็จของงาน ที่สามารถทำแล้วบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นหมายถึง งานที่สามารถทำแล้วบรรลุตามที่มุ่งหวังและตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์นั่นเอง ดังนั้นระบบที่มีประสิทธิผลสูงหรือต่ำ จะขึ้นอยู่กับ (1) จำนวนรายการที่บรรลุผลตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมาย และ (2) ระดับของประโยชน์ที่เกิดจากผลผลิตที่ได้ สามารถทำได้เหนือกว่าระบบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์แห่งหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อต้องการลดชิ้นส่วนที่เสียหายจากกระบวนการผลิตลง 100 หน่วย โดยได้มีการนำเครื่องจักรใหม่มาใช้เพื่อควบคุมการผลิตในครั้งนี้ และได้กำหนดเกณฑ์ยอมรับที่ 70% ขึ้นไป ปรากฏว่า ภายหลังที่ได้นำเครื่องจักรใหม่มาควบคุมกระบวนการผลิตแล้ว ได้ช่วยลดจำนวนชิ้นส่วนที่เสียหายลงได้ 80 หน่วย นั่นหมายความว่า ประสิทธิผลของเครื่องจักรนี้มีค่าเท่ากับ 80% จึงถือว่าผ่านเกณฑ์ ดังนั้นการนำเครื่องจักรใหม่มาใช้เพื่อควบคุมกระบวนการผลิตในครั้งนี้ก่อให้เกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น
                ประสิทธิภาพ (Efficiency)เป็นการวัดสิ่งที่ถูกผลิตออกมา (Benefits) แล้วนำมาหารด้วยรายจ่ายหรือต้นทุนที่ใช้ไป  (Costs)  ซึ่งคำนวณได้จากสูตรการคำนวณดังนี้
         
                ตัวอย่างเช่น รถยนต์ขนาดเดียวกัน มีความจุเท่ากัน ถูกนำมาทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันภายใต้เงื่อนไขเหมือนๆ กัน โดยเติมน้ำเต็มถัง และวิ่งทดสอบระยะทาง ผลปรากฏว่ารถยนต์ A ใช้น้ำมันไป 50 ลิตร สำหรับการเดินทาง 680 กิโลเมตร ในขณะที่รถยนต์ B ใช้น้ำมันไป 50 ลิตร กับการเดินทางที่ 500 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า รถยนต์ A มีประสิทธิภาพเหนือกว่ารถยนต์ B เพราะว่ามีอัตราการบริโภคน้ำมันที่ 13.6 กิโลเมตรต่อลิตร ในขณะที่รถยนต์ B บริโภคน้ำมันที่ 10 กิโลเมตรต่อลิตรดังนั้นผลลัพธ์จากการวัดประสิทธิภาพที่ได้ หากมีค่ามากกว่า นั่นหมายถึงประสิทธิภาพดีกว่านั่นเอง ดังนั้นระบบหนึ่งๆ จะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบอื่นๆ ได้ หากต้นทุนการดำเนินงานนั้นต่ำกว่า แต่กลับให้ผลผลิตที่มีคุณภาพเหนือกว่าระบบอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันได้ กล่าวคือ คุณภาพของผลผลิตจะเหนือกว่าระบบอื่นๆ  ในขณะที่ใช้ต้นทุนการดำเนินงานน้อยกว่านั่นเอง

                อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพนอกจากจะนำต้นทุนมาพิจารณาแล้วยังเกี่ยวข้องกับความประหยัดในเรื่องของการใช้ทรัยพากร การลดความสูญเปล่า การประหยัดเวลา และผลผลิตที่มีคุณภาพทัดเทียมหรือสูงกว่า นั้นคำว่า การเพิ่มผลผลิต (Productivity) จึงมักถูกนำมาใช้งานกับภาคธุรกิจ และใช้สมการเดียวกันกับการคำนวณประสิทธิภาพกล่าวคือ การปรับปรุงด้านผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้กับแรงงาน ก็จะหมายความว่า จำนวนแรงงานที่น้อยกว่า แต่กลับสามารถสร้างสรรค์งานให้สำเร็จให้ทัดเทียม หรือมากกว่าจำนวนแรงงานที่มีมากกว่า ซึ่งสามารถคำนวณอย่างง่ายด้วยสูตรเอาต์พุตต่ออินพุต กล่าวคือ หากป้อนจำนวนอินพุตเข้าไปจำนวนหนึ่ง แต่กลับได้เอาต์พุตที่มากกว่าเดิม ก็หมายถึงมีผลผลิตที่ดีหรือมีประสิทธิภาพนั่นเอง ในขณะเดียวกัน สำหรับงานทางด้านไอที ก็มักจะกล่าวถึงคำว่า เครื่องมือเพิ่มผลผลิต (Productivity Tools) เช่นกัน ซึ่งมักหมายถึงโปรแกรมประยุกต์ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานให้สำเร็จลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งผลงานก็มีคุณภาพ เช่น ชุดโปรแกรม MS – Officeก็จัดเป็นเครื่องมือเพิ่มผลผลิตตัวหนึ่งที่ภายในชุดจะประกอบไปด้วยโปรแกรมช่วยงานอย่าง Word Processing, Spreadsheet และ Presentation ที่พนักงานสามารถนำมาใช้จัดงานเอกสาร งานนำเสนอ และงานสำนักงานทั่วไปได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้งานต่างๆ มีคุณภาพ ประหยัดเวลาในการจัดทำ ขณะเดียวกัน  ผู้ประกอบการก็ประหยัดค่าแรงงาน  เนื่องจากไม่จำเป็นต้องว่าจ้างพนักงานเพิ่ม
                จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า ในการนำระบบสารสนเทศมาใช้กับธุรกิจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น ระบบสารสนเทศจะต้องสนับสนุนงานในหน้าที่ทางธุรกิจขององค์กรได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านบัญชี การเงิน และการผลิต ฯลฯ อีกทั้งยังช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินงานได้บรรลุตามเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งเกิดจากระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวก  และเอื้อต่อการทำงานร่วมกันนั่งเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น